วันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

2.            ทฤษฎีพหุปัญญา(Theory of Multiple Intelligences)
 รศ.ดร.เสาวลักษณ์ รัตนวิชช์ ได้กล่าวถึงทฤษฎีเกี่ยวกับการเรียนรู้และการสอนร่วมสมัย หลักการไว้ดังนี้
ทฤษฏีนี้มีความเชื่อพื้นฐานที่สำคัญ 2 ประการ คือ
1. เชาวน์ ปัญญาของบุคคลมิได้มีเพียงความสามารถทางภาษาและทางคณิตศาสตร์เท่านั้น แต่มีอยู่อย่างหลากหลายถึง 8 ประเภทด้วยกัน ประกอบด้วย
-  เชาวน์ปัญญาด้านภาษา (Linguistic intelligence)
-  เชาวน์ปัญญาด้านคณิตศาสตร์หรือการใช้เหตุผลเชิงตรรกะ (Logical mathematical intelligence)
-  สติปัญญาด้านมิติสัมพันธ์ (Spatial intelligence)
-  เชาวน์ปัญญาด้านดนตรี (Musical intelligence)
-  เชาวน์ปัญญาด้านการเคลื่อนไหวร่างกายและกล้ามเนื้อ (Bodily kinesthetic intelligence)
-  เชาวน์ปัญญาด้านความสัมพันธ์กับผู้อื่น (Interpersonal intelligence)
-  เชาวน์ปัญญาด้านความเข้าใจตนเอง (Intrapersonal intelligence)
-  เชาวน์ปัญญาด้านความเข้าใจธรรมชาติ (Naturalist intelligence)
เชาวน์ ปัญญาของแต่ละคนอาจจะมีมากกว่านี้ คนแต่ละคนจะมีความสามารถเฉพาะด้านที่แตกต่างไปจากคนอื่น และมีความสามารถในด้านต่างๆ ไม่เท่ากัน ความสามารถที่ผสมผสานกันออกมา ทำให้บุคคลแต่ละคนมีแบบแผนซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน
2. เชาวน์ปัญญาของแต่ละบุคคลจะไม่อยู่คงที่อยู่ที่ระดับที่ตนมีตอนเกิด แต่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ หากได้รับการส่งเสริมที่เหมาะสม
หลัก การจัดการเรียนการสอนตามทฤษฏีนี้ คือ มีกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายที่สามารถส่งเสริมเชาวน์ปัญญาหลายๆ ด้าน ให้เหมาะสมกับขั้นพัฒนาการของผู้เรียน การสอนควรเน้นการส่งเสริมความเป็นเอกลักษณ์ของผู้เรียน ครูควรสอนโดนเน้นให้ผู้เรียนค้นหาเอกลักษณ์ของตน ภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ของตนเอง และเคารพในเอกลักษณ์ของผู้อื่น รวมทั้งเห็นคุณค่าและเรียนรู้ที่จะใช้ความแตกต่างของแต่ละบุคคลให้เป็น ประโยชน์ต่อส่วนรวม ระบบการวัดผลและประเมินผลการเรียนรู้ควรมีการประเมินหลายๆ ด้าน และในแต่ละด้านควรเป็นการประเมินในสภาพการณ์ของปัญหาที่สามารถแก้ปัญหาได้ ด้วยอุปกรณ์ที่สัมพันธ์กับเชาวน์ปัญญาด้านนั้นๆ การประเมินจะต้องครอบคลุมความสามารถในการแก้ปัญหาหรือการสร้างสรรค์ผลงานโดย ใช้อุปกรณ์ที่สัมพันธ์กับเชาวน์ปัญญาด้านนั้นๆ อีกวิธีหนึ่ง

ทิศนา แขมมณี (2545 : 85) ได้กล่าวถึงทฤษฎีการสอนแบบพหุปัญญาว่า ผู้บุกเบิกทฤษฎีการสอนแบบนี้ คือ ดร.โฮเวิร์ด การ์ดเนอร์  (Howard Gardner) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) โดยเขาได้เขียนหนังสือเรื่อง “Frames of Mind : The Theory of Multiple Intelligences” ซึ่งได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง แนวคิดของเขาก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิดเกี่ยวกับ เชาวน์ปัญญาเป็นอย่างมาก และกลายเป็นทฤษฎีที่กำลังมีอิทธิพลอย่างกว้างขวางต่อการจัดการศึกษาและการเรียนการสอน ในปัจจุบัน
                ทฤษฎีเชาวน์ปัญญาแบบเดิมนั้น มักจะเน้นความสามารถในเชิงภาษา คณิตศาสตร์ และความคิดเชิงตรรกะ ดังจะเห็นได้จากการสอบคัดเลือกทั่วไป ทั้งวิชาวัดแววความเป็นครูในการสอบแอดมิชชั่นเข้ามหาวิทยาลัย หรือ ข้อสอบบรรจุเข้ารับราชการ มักจะเน้นองค์ประกอบ 3 ด้านนี้เป็นหลัก และถือว่าเป็นสิ่งกำหนดระดับเชาวน์ปัญญาของบุคคลไปตลอดชีวิต เพราะทฤษฎีเดิมถือว่า เชาวน์ปัญญาจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดชีวิต แต่การ์ดเนอร์ ได้ให้ความหมายของเชาวน์ปัญญาใหม่ว่า (Gardner. 1983 อ้างใน
ทิศนา แขมมณี.  2545 : 86)
ความสามารถในการแก้ปัญหาในสภาพแวดล้อมต่างๆ หรือการ
สร้างสรรค์ผลงานต่างๆ ซึ่งจะมีความสัมพันธ์กับบริบททางวัฒนธรรมใน
แต่ละแห่ง    รวมทั้งความสามารถในการตั้งปัญหาเพื่อจะหาคำตอบและ
เพิ่มพูนความรู้
               
การ์ดเนอร์นั้น มีความเชื่อพื้นฐานเกี่ยวกับสติปัญญาที่สำคัญ 2 ประการ คือ
                1.เชาวน์ปัญญาของบุคคลมิได้มีเพียงความสามารถทางภาษา และทางคณิตศาสตร์เท่า นั้น แต่มีอยู่อย่างหลากหลายถึง 8 ประเภทด้วยกัน (ดังจะได้กล่าวต่อไป) แต่การ์ดเนอร์เองก็กล่าวว่าอาจจะมีมากกว่า 8 ประเภท โดยคนแต่ละคนจะมีความสามารถเฉพาะด้านแตกต่างกันไป ซึ่งสอดคล้องกับเรื่องของความแตกต่างระหว่างบุคคล ความสามารถที่แตกต่างกันออกไปนี้ เมื่อผสมผสานออกมาแล้วจะก่อให้เกิดเอกลักษณ์เฉพาะตัวบุคคล
                2.เชาวน์ปัญญาไม่ใช่สิ่งที่มั่นคงถาวรตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย หากแต่สามารถเปลี่ยน แปลงได้ตามสภาพแวดล้อม และการส่งเสริมที่เหมาะสม
                การ์ดเนอร์เองได้อธิบายถึงเชาวน์ปัญญาไว้ว่า ประกอบด้วยความสามารถ 3 ประการ ได้แก่
                1.ความสามารถในการแก้ปัญหาในสภาพการณ์ต่างๆ ที่เป็นไปตามธรรมชาติ และตามบริบททางวัฒนธรรมของแต่ละบุคคล
                2.ความสามารถในการสร้างสรรค์ผลงานที่มีประสิทธิภาพ และสัมพันธ์กับบริบททางวัฒนธรรม
                3.ความสามารถในการแสวงหาหรือตั้งปัญหาเพื่อหาคำตอบและเพิ่มพูนความรู้
พงษ์ศักดิ์ แป้นแก้ว (2546 : 109 – 114) ได้อธิบายว่า

2.1 สติปัญญาด้านภาษา (Linguistic Intelligence)
                สติปัญญาด้านภาษา เป็นความสามารถในการเลือกใช้ถ้อยคำภาษาที่แสดงออกในการสื่อความหมาย โดยมีสมองส่วน Brocals Area ซึ่งเป็นสมองส่วนหน้า ควบคุมการเรียบเรียงประโยคออกมาเป็นประโยคที่สื่อความตามหลักภาษา หากสมองส่วนนี้อาจจะทำให้สื่อสารกับผู้อื่นไม่รู้เรื่อง แต่ยังฟังหรืออ่านสิ่งต่างๆ แล้วเข้าใจได้อยู่
                ลักษณะสำคัญของบุคคลที่มีสติปัญญาด้านภาษา
1.             เป็นบุคคลที่เห็นคุณค่าของหนังสือ ชอบอ่านหนังสือแล้วพูดหรือเล่าในสิ่งที่อ่าน
2.             มีความจำดีในชื่อต่างๆ สถานที่ วัน เดือน ปี หรือสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่พบ
3.             สามารถนึกคิดถ้อยคำต่างๆ ในใจได้ก่อนที่จะพูดหรืออ่านสิ่งเหล่านั้น
4.             สื่อสารกับผู้อื่นโดยใช้ภาษาได้เป็นอย่างดี
5.             สนุกสนานกับการเล่นเกมที่เกี่ยวกับการใช้คำ (อักษรไขว้ ต่อคำ) การพูดคำสัมผัส (การแต่งคำประพันธ์/กลอนสด) การเล่นคำผวน
6.              เป็นผู้มีความสามารถด้านการเขียน สะกดคำได้อย่างถูกต้อง ใช้คำศัพท์ต่างๆ ได้อย่างดี
7.             มีความสามารถในการเรียนรู้ภาษาอื่นได้อย่างดี
8.             มีความพยายามที่จะพัฒนาการใช้ภาษาของตนเอง จะสามารถสร้างคำทั้งในการพูดและการเขียนในรูปแบบใหม่ได้อย่างสม่ำเสมอ
9.             เป็นคนรักการอ่าน การเขียน การเล่าเรื่อง แต่งคำประพันธ์ โต้วาที เล่าขำขัน ร่วมอภิปรายแสดงความคิดเห็นต่างๆ
10.      ชอบเรียนวิชาภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ ประวัติศาสตร์ มากกว่าคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์
11.      มีความสนใจในอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการใช้ภาษา เช่น กวี นักพูด นักเขียน นักกฎหมาย เป็นต้น
12.      มีทักษะทางภาษาที่มีประสิทธิภาพทั้งการฟัง พูด อ่าน และเขียน

2.2 สติปัญญาในการใช้เหตุผลเชิงตรรกะและคณิตศาสตร์ (Logical–Mathematical Intelligence)
สติปัญญาในด้านการใช้เหตุผลเชิงตรรกะและคณิตศาสตร์ และด้านภาษาที่กล่าวไปข้างต้น มักจะถือว่าเป็นสติปัญญาขั้นทั่วไปของมนุษย์ มักจะวัดผ่านแบบทดสอบต่างๆ เชาวน์ปัญญาในด้านนี้มีสมองส่วนควบคุมกลไกในการแก้ปัญหาในการใช้เหตุผลเชิงตรรกะ และการคำนวณทางคณิตศาสตร์ การ์ดเนอร์กล่าวถึงสติปัญญาในด้านนี้ว่า มีองค์ประกอบ 3 ด้าน คือ
ด้านการคิดคำนวณทางคณิตศาสตร์ (mathmatics)
ด้านวิทยาศาสตร์  (Science)
ด้านการใช้เหตุผลเชิงตรรกะ (Logic)

ลักษณะสำคัญของบุคคลที่มีสติปัญญาในการใช้เหตุผลเชิงตรรกะและคณิตศาสตร์
1.             เข้าใจสิ่งต่างๆ และบทบาทของสิ่งเหล่านั้นตามสภาพที่เป็นอยู่ในสิ่งแวดล้อม
2.             เข้าใจในเรื่องจำนวน ตัวเลข และมีทักษะในการคิดคำนวณ เช่น การประมาณค่า การทำนายค่าทางสถิติ การแสดงผลข้อมูลโดยกราฟแบบต่างๆ รวมทั้งรู้จักใช้เทคนิคในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับคณิตศาสตร์
3.             มีทักษะในการแก้ปัญหาโดยพิจารณาเหตุและผล (Critical Thinking)
4.             เข้าใจรูปแบบและความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ โดยรู้จักใช้สัญลักษณ์ที่เป็นรูปธรรมเพื่อแสดงในสิ่งที่เป็นนามธรรม สามารถอธิบายเรื่องมโนมติในเรื่องต่างๆ ได้
5.             มีกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Method) รู้จักรวบรวมข้อมูล ตั้งสมมติฐาน ตรวจสอบสมมติฐาน และลงข้อสรุปเพื่อแก้ปัญหาที่พบได้
6.             ชอบศึกษาหรือเรียนในวิชาที่ซับซ้อน เช่น แคลคูลัส วิทยาศาสตร์ คอมพิวเตอร์ เป็นต้น
7.             ชอบในอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการคำนวณ การใช้เหตุผล และวิทยาศาสตร์ เช่น นักบัญชี นักวิทยาศาสตร์ นักคอมพิวเตอร์ นักกฎหมาย และวิศวกร
8.             มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในเชิงวิทยาศาสตร์ ชอบศึกษากลไกการทำงานของอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ

2.3  สติปัญญาด้านการเคลื่อนไหวร่างกายและกล้ามเนื้อ (Bodily – Kinesthetic Intelligence)
สติปัญญาในด้านนี้เป็นความสามารถในการใช้ส่วนของร่างกายเพื่อการแสดงออก สร้าง สรรค์ หรือสื่อสารกับผู้อื่นได้อย่างคล่องแคล่ว ผู้ที่มีเชาวน์ปัญญาในด้านนี้จะมีสมองส่วนที่เรียกว่า Cortex โดยสมองส่วนหนึ่งจะเป็นหลักในการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย อีกด้านหนึ่งไขว้กัน (ขวาควบคุมซ้าย ซ้ายควบคุมขวา) คนที่ถนัดขวาจะมีการพัฒนาที่ชัดเจนมาตั้งแต่เด็ก
ลักษณะสำคัญของบุคคลที่มีสติปัญญาด้านการเคลื่อนไหวร่างกายและกล้ามเนื้อ
1.             ชอบสำรวจสภาพแวดล้อม วัตถุต่างๆ โดยการสัมผัส จับต้อง เคลื่อนไหวในสิ่งที่ต้องการเรียนรู้
2.             เรียนรู้ได้ดีเมื่อได้เข้าไปมีส่วนร่วมโดยตรง จดจำได้ดีในสิ่งที่ลงมือปฏิบัติมากกว่าฟัง หรือสังเกตเพียงอย่างเดียว
3.             ชอบเรียนในสิ่งที่เป็นรูปธรรม เช่น ทัศนศึกษา แบบจำลองสิ่งต่างๆ เล่นบทบาทสมมติ เกม การออกกำลังกาย
4.             แสดงทักษะในการทำงานที่มีการเคลื่อนไหวได้อย่างคล่องแคล่ว มีความ สามารถด้านกีฬา เป็นนักกีฬา
5.             รับรู้และตอบรับกับสภาพแวดล้อมต่างๆ โดยระบบทางกายภาพ
6.             มีทักษะทางการแสดง กีฬา เต้นรำ เย็บปักถักร้อย แกะสลัก ดนตรี เช่น keyboard
7.             ประดิษฐ์คิดค้นวิธีใหม่ๆ ที่ใช้ทักษะทางร่างกาย เช่น ออกแบบท่าทาง การเต้นรำ คิดกีฬาใหม่ๆ หรือกิจกรรมทางกายภาพด้านอื่นๆ
8.             มีลักษณะที่เป็นคนที่ชอบเคลื่อนไหว คล่องแคล่ว และสนุกกับการอยู่กลางแจ้งมากกว่าในร่ม ไม่ชอบนั่งนิ่งเป็นเวลานานๆ
9.             ชอบทำงานต่างๆ ที่ใช้มือ ชอบสิ่งของที่จะนำมาสร้างหรือประดิษฐ์เป็นสิ่งต่างๆ ได้
10.      ชอบแยกแยะสิ่งต่างๆ เพื่อสำรวจส่วนประกอบต่างๆ และสามารถประกอบเข้ารูปเหมือนเดิมได้
11.      สนใจในวิชาชีพที่เกี่ยวกับการกีฬา เต้นรำ ศัลยแพทย์ ช่างก่อสร้าง นักประดิษฐ์ เป็นต้น

2.4  สติปัญญาด้านการมองเห็นและมิติสัมพันธ์ (Visual/Spatial Intelligence)
เชาวน์ปัญญาด้านนี้ถูกควบคุมโดยสมองซีกขวา และแสดงออกทางความสามารถด้านศิลปะ การวาดภาพ การสร้างภาพ การคิดเป็นภาพ การเห็นรายละเอียด การใช้สี การสร้างสรรค์งานต่าง ๆ และมักจะเป็นผู้มองเห็นวิธีแก้ปัญหาในมโนภาพ เชาวน์ปัญญาในด้านนี้เป็นเชาวน์ปัญญาที่มนุษย์มีมาแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เพราะมนุษย์วาดภาพเพื่อสื่อสารความหมายมาตั้งแต่สมัยนั้น
ลักษณะสำคัญของบุคคลที่มีสติปัญญาด้านการมองเห็นและมิติสัมพันธ์
1.             ชอบมองและสังเกตรายละเอียดของสิ่งต่างๆ ที่พบเห็นได้ดี ไม่ว่าจะเป็นรูปร่าง ลักษณะ สี
2.             บอกตำแหน่งและทิศทางของวัตถุสิ่งของต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว คล่องแคล่ว และถูกต้อง
3.             สามารถอธิบายรายละเอียดของภาพหรือแผนผังต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
4.             ชอบการเขียนภาพ วาดภาพ ประดิษฐ์วัตถุสิ่งของ ทั้งงานปั้นและงานฝีมือต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานทัศนศิลป์
5.             ชอบเล่นเกมที่เกี่ยวกับการสร้างภาพหรือจินตนาการในใจ เช่น หมากรุก หมากฮอส อักษรไขว้ ภาพต่อ (Jigsaw) เป็นต้น
6.             เขียนแผนผังแสดงตำแหน่งที่ตั้งของสิ่งต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง
7.             มีความสนใจในการประกอบอาชีพเกี่ยวกับศิลปะ เช่น นักถ่ายรูป วิศวกร นักออกแบบ จิตรกร รวมทั้งนักบิน สถาปนิก
8.             สร้างสรรค์ผลงานแปลกใหม่เกี่ยวกับงานศิลป์เสมอ
9.              มีมุมมองในสิ่งต่างๆ ที่แตกต่างไปจากคนอื่น (New perspective) รวมทั้งมองเห็นในสิ่งที่ซ่อนหรือแฝงอยู่โดยที่คนอื่นอาจไม่เห็นหรือไม่เข้าใจ เช่น การมองภาพศิลปะ

2.5  สติปัญญาด้านดนตรี (Musical Intelligence)
เชาวน์ปัญญาด้านนี้ถูกควบคุมโดยสมองซีกขวาตอนบน บุคคลที่มีสติปัญญาทางด้านนี้ จะแสดงออกทางความสามารถในด้านจังหวะ การร้องเพลง การฟังเพลงและดนตรี การแต่งเพลง การเต้น และมีความไวต่อการรับรู้เสียงและจังหวะต่างๆ  โดยที่บางครั้งอาจดูเหมือนไม่มีความสามารถ เช่น เล่นเปียโนได้ แต่ไม่สามารถเล่นเครื่องดนตรีอื่นๆ ได้ หรือ บางครั้งในการเรียนทฤษฎีดนตรี อาจจะสอบตก แต่ร้องเพลงได้ไพเราะ เป็นต้น
ลักษณะสำคัญของบุคคลที่มีสติปัญญาด้านดนตรี
1.             เป็นผู้มีความสุข สนุกสนานกับการฟังเพลงจากวิทยุ เทป ซีดี
2.             ชอบเคาะมือ เคาะเท้า เป็นจังหวะหรือ ผิวปาก ฮัมเพลง ในขณะทำงาน
3.             รู้จักท่วงทำนอง จังหวะ ลีลาของเพลงต่างๆ มากมาย
4.             ร้องเพลงได้ไพเราะหรือเล่นดนตรีต่างๆ เก่ง
5.             มีท่วงที จังหวะ  และลีลาในการพูดหรือเคลื่อนไหว ที่แสดงออกทานดนตรีได้อย่างเด่นชัด
6.             ชอบร้องเพลงคลอตามขณะเปิดเพลง ชอบการแสดงดนตรี (Concert) ชอบเล่นเครื่องดนตรีประเภทต่างๆ
7.             ชอบสะสมข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับดนตรี เช่น เทปเพลง เนื้อเพลง ซีดี วีดีโอเพลง เครื่องดนตรีต่างๆ เป็นต้น
8.             สนใจฟังเสียงดนตรี หรือเสียงอื่นๆ รอบๆ ตัว และพยายามหาโอกาสในการฟัง สามารถคิดประกอบกับเสียงดนตรี หรือเสียงธรรมชาติอื่นๆ ได้อย่างรวดเร็ว
9.             สามารถฟังและตอบรับกับเสียงต่างๆ รอบตัว แล้วเรียบเรียงเสียงประสานให้อยู่ในรูปแบบที่มีความหมายได้
10.      สามารถพัฒนาตนเองให้มีความสามารถในการร้องเพลงหรือเล่นดนตรีได้ดี ทั้งการร้องเดี่ยว หรือกับคนอื่นๆ ได้
11.      มีความสนใจในอาชีพที่เกี่ยวกับดนตรี เช่น นักร้อง นักดนตรี ครูสอนดนตรี คนทำเครื่องดนตรี นักแต่งเพลง ผู้อำนวยเพลง เป็นต้น

2.6  สติปัญญาด้านการเข้ากับผู้อื่น (Interpersonal Intelligence)
เชาว์ปัญญาด้านนี้ถูกควบคุมโดยสมองส่วนหน้า หากสมองด้านนี้ถูกทำลายจะทำให้เกิดปัญหาในการเข้าสังคม ความสามารถที่แสดงออกทางด้านนี้ เห็นได้จากการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น การทำงานกับผู้อื่น การเข้าใจและเคารพผู้อื่น การแก้ปัญหาความขัดแย้ง และการจัดระเบียบ ผู้มีความสามารถทางด้านนี้ มักเป็นผู้ที่มีความไวต่อความรู้สึกและความต้องการของผู้อื่น
ลักษณะสำคัญของบุคคลที่มีสติปัญญาด้านการเข้ากับผู้อื่น
1.             มีความสัมพันธ์กับครอบครัวและชอบปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
2.             สร้างและรักษาความสัมพันธ์อันดีกับผู้อื่นในสังคม
3.             พยายามใช้วิธีที่หลากหลายเพื่อเข้าไปมีส่วนสัมพันธ์กับผู้อื่น
4.             รับรู้และเข้าใจความรู้สึก ความคิด แรงจูงใจ พฤติกรรม และวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของผู้อื่น
5.             เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานกับผู้อื่น และสามารถรับบทบาทหลายอย่างที่เหมาะสมตั้งแต่ผู้นำจนถึงผู้ตามกลุ่ม
6.             มีความสามารถโน้มน้าว ชักจูง ในการแสดงความคิดเห็น หรือการกระทำของผู้อื่น
7.             มีความเข้าใจและสื่อสารกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งด้วยวาจาและไม่ใช้วาจา
8.             ปรับพฤติกรรมเข้ากับสภาพแวดล้อมหรือกลุ่มคนที่แตกต่าง หรือจากข้อมูลย้อนกลับที่ได้จากผู้อื่นได้
9.             รับรู้ความคิดที่หลากหลายในเรื่องที่เกี่ยวกับสังคม หรือการเมืองต่างๆ ได้
10.      สนใจพัฒนากระบวนการหรือรูปแบบต่างๆ ทางสังคม
11.      ชอบการปรึกษาหารือในปัญหาต่างๆ กับผู้อื่น มากกว่าที่จะแก้ปัญหาด้วยตนเอง
12.      มีเพื่อนมาก โดยเฉพาะที่สนิทสนมมากๆ อย่างน้อยที่สุด 3 คน
13.      ชอบคุย สนุกกับการได้เข้าสังคม พบปะผู้คน
14.      ชอบการเล่นเกม กีฬา ที่มีลักษณะการเล่นเป็นกลุ่ม
15.      อาสาสมัครที่จะร่วมทำงานกับผู้อื่นในเรื่องใหม่ๆ เสมอ
16.      แสดงความสามารถในการเป็นผู้นำ หาเพื่อนๆ ร่วมปฏิบัติงานอยู่ตลอดเวลา
17.      เป็นสมาชิกของชมรม องค์กร หรือคณะกรรมการต่างๆ ที่มีความคล่องแคล่วและกระตือรือร้น
18.      มักเป็นผู้ที่มีผู้ขอคำปรึกษาหรือขอคำแนะนำต่างๆ
19.      แสดงความสนใจในอาชีพที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์กับผู้อื่น เช่น นักการ เมือง ผู้นำทางศาสนา ครู นักแนะแนว นักประชาสัมพันธ์ พิธีกร นักนิเทศศาสตร์ นักสังคมสงเคราะห์ เป็นต้น

2.7 สติปัญญาด้านการรู้จักและเข้าใจตนเอง (Intrapersonal Intelligence)
บุคคลที่สามารถในการเข้าใจตนเอง มักเป็นคนที่ชอบคิด พิจารณาไตร่ตรอง มองตนเอง และทำความเข้าใจถึงความรู้สึกและพฤติกรรมของตนเอง มักเป็นคนที่มั่นคงในความคิดความเชื่อต่าง ๆ จะทำอะไรมักต้องการเวลาในการคิดไตร่ตรอง และชอบที่จะคิดคนเดียว ชอบความเงียบสงบ สติปัญญาทางด้านนี้ มักเกิดร่วมกับสติปัญญาด้านอื่น มีลักษณะเป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างเชาว์ปัญญา อย่างน้อย 2 ด้านขึ้นไป ผู้ที่ไม่มีสติปัญญาในด้านนี้ มักจะมีบุคลิกเฉื่อยชา เชื่องช้า ไม่ยินดียินร้ายและเศร้าซึม
ลักษณะสำคัญของบุคคลที่มีสติปัญญาด้านการรู้จักและเข้าใจตนเอง
1.             มีการแสดงออกทางอารมณ์อย่างเหมาะสมและมีขอบเขต
2.             แสดงความคิดเห็นและความร้สึกในเรื่องต่างๆ อย่างพอเหมาะ
3.             มีเป้าหมายในการดำเนินชีวิตที่แน่นอนและในรูปแบบที่ถูกต้อง
4.             ทำงานได้ด้วยตนเอง
5.             มีพัฒนาการในด้านการเรียนรู้และบุคลิกภาพ
6.             สามารถทำความเข้าใจในสิ่งต่างๆ ที่เป็นประสบการณ์ของชีวิตเพื่อนำมาใช้ในการปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น
7.             เข้าใจถึงความสำคัญของตัวเองที่มีอิทธิพลหรือมีบทบาทและความสัมพันธ์ต่อบุคคลอื่น

2.8 สติปัญญาด้านการเป็นนักธรรมชาติวิทยา (Nationalism Intelligence)
เชาวน์ปัญญาในด้านนี้ การ์ดเนอร์ได้เพิ่มหลังจากที่ตีพิมพ์หนังสือ “Frames of Mind : The Theory of Multiple Intelligences” แล้ว แต่ก็ได้กล่าวถึงลักษณะของเชาวน์ปัญญาเหล่านี้ในภายหลังว่า เชาวน์ปัญญาด้านนี้เป็นความสามารถในการสังเกตสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ การจำแนกแยกแยะ จัดหมวดหมู่ สิ่งต่าง ๆ รอบตัว บุคคลที่มีความสามารถทางนี้ มักเป็นผู้รักธรรมชาติ เข้าใจธรรมชาติ ตระหนักในความสำคัญของสิ่งแวดล้อมรอบตัว และมักจะชอบและสนใจสัตว์ ชอบเลี้ยงสัตว์เลี้ยง เป็นต้น
ลักษณะสำคัญของบุคคลที่มีสติปัญญาด้านการรู้จักและเข้าใจตนเอง
 -  เป็นคนชอบสัตว์ ชอบเลี้ยงสัตว์
 -  สนใจสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติรอบตัว
 -  สนใจความเป็นไปในสังคมรอบตัว ชอบศึกษาเรื่องราวของมนุษย์ การดำรงชีวิต
   จิตวิทยา
 -  คิดถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อสิ่งแวดล้อม
 -  เข้าใจธรรมชาติของพืชและสัตว์ได้เป็นอย่างดี รู้จักชื่อต้นไม้ ดอกไม้หลายชนิด
 -  ไวต่อความรู้สึก การเปลี่ยนแปลงของดิน ฟ้า อากาศ
 -  สามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ดี
 -  มีความรู้เรื่องดวงดาว จักรวาล สนใจวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต
                    
               สรุปได้ว่าทฤษฎีพหุปัญญา คือ เด็กแต่ละคนมีวิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน เปรียบเหมือนสายรุ้งที่หลากสี บุคคลจึงมีหลากหลาย   รสนิยม มีความแตกต่างของบุคลิกภาพ ครู พ่อแม่และผู้ปกครองต้องสำเหนียกตระหนักและมองเห็นคุณค่าของความแตกต่างเพื่อการค้นหาให้พบว่า เด็กมีลักษณะการเรียนรู้หรือความสามารถที่จะเรียนรู้ในทางใด เพื่อจะได้ดำเนินกิจกรรมการพัฒนาเด็กให้เต็มตามศักยภาพและได้ใช้ความสามารถได้สูงสุด

อ้างอิง
Book of YADAWAN. ทฤษฎีกระบวนการทางสมองในการประมวลข้อมูล. สืบค้นเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน
          2554.จาก : http://sites.google.com/site/bookeclair/hk.
ศูนย์เครือข่ายพัฒนาการสอนภาษาอังกฤษ. ทฤษฎีการเรียนรู้. สืบค้นเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2554.
Educational Leadership and Innovations. ทฤษฎีการเรียนรู้. สืบค้นเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน
          2554.จาก : http://www.pochanukul.com/?p=156  เข้าถึง 28 มิถุนายน 2554

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น